MEET THE GUNDAM

ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก

ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก...ยักใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก

เคยท่องกันไหมครับ? สำหรับผมจำได้ว่าเคยท่องประโยคชวนลิ้นพันกันนี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่คิดว่าโตขึ้นมาแล้ววันหนึ่งจะได้ไล่จับตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ไปจนถึงยักษ์เล็กกันจริงๆ

ยักษ์ใหญ่ – เริ่มต้นกันที่พระเอกของเรื่องกันก่อนดีกว่า ยักษ์ใหญ่ที่ว่านี้แน่นอนว่าคนไทยรู้จักกันดีไม่แพ้คนญี่ปุ่นหรือคนทั่วโลก ซึ่งยักษ์ตัวนี้ก็คือเจ้า GUDAM หุ่นยักษ์ที่สร้างออกมาเหมือนจริงหลุดออกมาจากโลกการ์ตูนมายืนตระหง่านคุ้มครองโลกอยู่ที่โตเกียวนี่เอง

หุ่นยักษ์กันดั้มนี้ความจริงแล้วมันก็คือโปรเจ็ค Real-G ที่หยิบเอาจินตนาการมาสร้างให้สัมผัสกันได้จริง Real-G นั้นเป็นหุ่นยักษ์ในซีรี่ย์ GUNDAM RX-78-2 ที่โด่งดังในภาพยนตร์การ์ตูนนั่นเอง มันถูกสร้างออกมาให้เป็นหุ่นยนต์จริงๆ ในสเกล 1 : 1 แบบขนาดเท่าจริงตามที่ปรากฏในการ์ตูน (เมื่อเทียบขนาดกับสิ่งก่อสร้างต่างๆ) ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้มีความสูงถึง 18 เมตร และหนักกว่า 35 ตัน เลยทีเดียว Real-G นี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกและเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2552 (2009) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ของการ์ตูนเรื่องดังอย่าง Gundam นั่นเอง

หลังจากนั้น Real-G ถูกนำไปตั้งโชว์เป็นสถาปัตยกรรมกึ่งถาวรที่เมืองชิซูโอกะ (Shizuoka City) เมืองอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัท Bandai ผู้ผลิตกันดั้มนั่นล่ะ โดยมันตระหง่านอย่างโดดเด่นอยู่ที่นี่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 (2010) จนถึงเดือนมีนาคม 2554 (2011) ก่อนที่มันจะถูกนำมายังโตเกียวในวันที่ 19 เมษายน 2555 (2012) เพื่อร่วมโครงการระดมทุนสำหรับ Green Tokyo Gundam Project อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเตรียมความพร้อมเมืองโตเกียวเพื่อเข้าร่วมคัดเลือกเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2016 กับธีม Green Olympic นั่นเอง (ซึ่งโตเกียวก็คว้าชัยในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2016 มาได้สำเร็จ) ปัจจุบัน Real-G นั้นถูกนำไปตั้งเป็นแลนด์มาร์กอันโดดเด่นแห่งเกาะโอไดบะ (Odaiba) กรุงโตเกียว โดยมันยืนตระหง่านอยู่ที่ Shiokaze Park บริเวณด้านหน้าห้าง DiverCity Tokyo Plaza ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 (2012) มาจนถึงปัจจุบัน

ใครที่เป็นแฟนกันดั้มคงยิ้มไม่หุบ ... เพราะขนาดผมที่เป็นแฟนแบบกลางๆ (ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ หรือไม่ได้ไม่รู้จักเอาเสียเลย) ก็ยังติดตามการเคลื่อนไหวของเจ้าหุ่นยักษ์ในโลกแห่งความเป็นจริงนี้มาตลอด หุ่นร่างยักษ์เสมือนจริงนั้นทำให้เราสัมผัสได้ถึง Gumdam มากยิ่งขึ้น การเห็นขนาดเท่าจริงที่เทียบกับตึกสูงใหญ่นั้นทำให้จินตนาการในวัยเด็กกลับมาชัดเจนในสมองอีกครั้ง ... ฮีโร่ในใจกำลังฟื้นคืนชีพ

ยักษ์เล็ก – กระตุ้นต่อมฮีโร่ที่ด้านล่างกันด้วยไซส์ยักไปแล้วแล้ว คราวนี้ขอพาเข้าตึก DiverCity Tokyo Plaza ขึ้นมาที่ชั้น 7 เพื่อกระตุ้นต่อมความสนุกกับยักษ์ไซส์เล็กกันบ้าง ... เรียกได้ว่าที่นี่เป็นโลกของกันดั้มที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว เพราะบนชั้น 7 นั้นเราจะพบกับ Gundam Front Tokyo พิพิธภัณฑ์กันดั้มและสวนสนุกขนาดย่อมที่มีเครื่องเล่นให้เราสนุกกัน นอกจากนี้ก็ยังมี Dome-G ให้เราได้เพลิดเพลินกับการชมภาพยนตร์กันดั้มกันบนจอแบบ 360 องศารอบทิศอีกด้วย ส่วนอีกโซนที่น่าสนใจก็คือโซนด้านหน้าอันเป็นที่ตั้งของ Ganpla Tokyo ศูนย์รวมแห่ง Ganpla (ガンプラ) หรือ Gumdam Plastic Model ตัวต่อกันดั้มที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก โดยมีการจัดแสดงตั้งแต่รุ่นคลาสสิกยอดฮิตอย่าง Mobile Suit Gundam หรือ Gundam 0079 (Gundam’79) อันถือเป็นหุ่นยนต์กันดั้มเวอร์ชั่นแรกของโลกที่ออกฉายทางทีวีในปี ค.ศ.1979 นั่นเอง แล้วก็มีตัวต่อกันดั้มอีกมากมายหลายรุ่นมาจนถึงรุ่นปัจจุบันจัดแสดงไว้ให้ชม

เรียกได้ว่าประทับใจตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ไล่ไปจนถึงยักษ์เล็กเลยทีเดียว ... อ้อ! แต่ถ้าอยากจะซึมซับกันดั้มกันให้มากขึ้นแนะนำให้แวะไปดื่มยักษ์ร้อนๆ กันก่อนกลับที่ Gundam Café ด้านล่าง (ใกล้ๆ กับ Real-G) ... ผมสั่ง Gandam Latte ที่กาแฟแก้วร้อนนั้นคัดสรรกาแฟชั่นดีอย่างพิถีพิถันทีเดียว ตบท้ายบนฟองนมด้วยการโรยหน้าผงโกโก้ให้เป็นรูปกันดั้มที่จิบแล้วทำให้ฟินเชียวล่ะ

ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก...ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก...ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก

ได้แต่ท่องไปยิ้มไป

Real-G / Gundam Front Tokyo / Gundam Café

ที่ตั้ง : DiverCity Tokyo Plaza, 1-1-10 Aomi, Koto, Tokyo

เปิด-ปิด : Real-G > ทุกวัน 24 ชม. / Gundam Front Tokyo > จ.-ศ. 10.00-22.00 น., ส.-อา. 09.00-22.00 น. / Gundam Café > ทุกวัน 10.00-21.00 น.

ค่าผ่านประตูสำหรับ Gundam Front Tokyo : ผู้ใหญ่ ¥1,200 / เด็ก ¥1,000

เว็บไซต์ : gundamfront-tokyo.com

วิธีเดินทาง : เริ่มต้นที่สถานี Shimbashi (ทั้ง JR และ Tokyo Metro) นั่นรถไฟโมโนเรลสาย Yurikamome ที่วิ่งเชื่อมไปยังเกาะ Odaiba ลงสถานี U07–Daiba หรือ U10-Aomi แล้วเดินต่ออีกหน่อย

15
0
Este artigo foi útil?
Help us improve the site
Give Feedback

Deixar um comentário

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.